วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557






รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557


รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557
เป็นส่วนหนึ่งของ วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557
Prayuth-Chan-ocha-in-Thai coup d'état-2014-05-22.png
ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันที่22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
สถานที่ไทย ราชอาณาจักรไทย
ผลลัพธ์
คู่ขัดแย้ง
คณะรักษาความสงบแห่งชาติคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 60
ผู้บัญชาการหรือผู้นำ
ประยุทธ์ จันทร์โอชานิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาลนับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้านี้ เกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และความเชื่อว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีอิทธิพลในการเมืองไทย
ในวันที่ 20 พฤษภาคม ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กอ.รส. ปิดสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้
หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี คสช. มีการจัดส่วนงานต่าง ๆ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และระบุว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่มีคำมั่นว่าประเทศจะหวนกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็ว
หลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่าง ๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความยินดี โดยมองว่าเป็นทางออกของวิกฤตการณ์การเมือง แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย

เบื้องหลัง[แก้]

ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการเมืองไทย พ.ศ. 2556-2557
การเมืองไทย • ประวัติศาสตร์ไทย
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่โดยมียิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ภายหลัง สุเทพตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดูแลการปฏิรูปการเมือง กลุ่มนิยมรัฐบาล รวมทั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดชุมนุมเช่นกัน มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก[1][2]
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ยิ่งลักษณ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 การเลือกตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ในวันนั้นเพราะถูกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้งในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557[3] ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่มีมติย้ายข้าราชการระดับสูงซึ่งเป็นที่โต้เถียงใน พ.ศ. 2554[4][5] รัฐมนตรีที่เหลืออยู่เลือกนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนยิ่งลักษณ์[6] แต่การประท้วงยังดำเนินต่อ
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เปิดเผยว่า ตนพูดคุยกับประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ถอนรากถอนโคนอิทธิพลของทักษิณและพันธมิตรนับแต่การชุมนุมทางการเมืองใน พ.ศ. 2553 เขากล่าวว่า ได้ติดต่อเป็นประจำผ่านแอพไลน์ ก่อนรัฐประหาร ประยุทธ์ติดต่อเขาว่า "คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส.เหนื่อยเกินไปแล้ว ต่อไป ขอเป็นหน้าที่กองทัพบกที่จะทำภารกิจนี้แทน" และกองทัพได้รับข้อเสนอของ กปปส. หลายอย่าง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร[7] ด้านโฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แหล่งข่าวว่า ประยุทธ์ "อารมณ์เสียมาก"[8]

ลำดับเหตุการณ์[แก้]

20 พฤษภาคม[แก้]

  • 08:25 น. - กอ.รส.ออกคำสั่งฉบับที่ 1 ให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด รับสัญญาณถ่ายทอดแถลงการณ์จากกองทัพบกทุกครั้งที่ได้รับการประสาน[9]
  • 09:48 น. - กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 3 ห้ามสื่อข่าวที่กระทบต่อการรักษาความสงบ[10]
  • 10:36 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 6 สั่งให้โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมระงับการออกอากาศจำนวน 10 ช่อง รวมถึงวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาต[11]
  • 11:06 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 5 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา กอ.รส.
  • 12:40 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 4 เชิญบุคคลสำคัญร่วมประชุมแก้ปัญหาความไม่สงบ[12]
  • 14:00 น. กอ.รส. เริ่มประชุมตามคำสั่งฉบับที่ 4 ที่สโมสรทหารบก สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมประชุม[13]
  • 19:34 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 8 ขอความร่วมมือสื่อสังคมออนไลน์ ระงับส่งข้อความปลุกระดม สร้างความรุนแรง ไม่เคารพกฎหมาย[14]
  • 19:45 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 7 สั่งให้โทรทัศน์ดาวเทียมระงับการออกอากาศเพิ่มเติมอีก 4 ช่อง[15]
  • 20:09 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 9 สั่งห้ามสื่อทุกแขนง เชิญผู้ไม่มีตำแหน่งราชการ แสดงความเห็นก่อความขัดแย้ง พร้อมสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด เข้าระงับการชุมนุมต่อต้าน การปฏิบัติงานของ กอ.รส.[16]
  • 20:49 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 10 สั่งห้ามข้าราชการ-เจ้าหน้าที่พลเรือน-ประชาชน พกพา-ใช้อาวุธสงครามและวัตถุระเบิด เว้นทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยตามคำสั่ง[17]
  • 21:04 น. พันเอกวินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะ โฆษก กอ.รส. ชี้แจงขั้นตอนการประกาศกฎอัยการศึกว่าเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย[18] และ กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 12 ให้ตำรวจ, เจ้าหน้าที่พลเรือน, หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ[19][20]

21 พฤษภาคม[แก้]

วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองยังชุมนุมต่อไป กอ.รส. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตและสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายงานต่อ กอ.รส. เพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์[21] ในช่วงบ่ายวันนั้น มีประกาศ กอ.รส. ฉบับที่ 6/2557 เพื่อเรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต[22] โดยห้ามมิให้มีผู้ติดตามเดินทางมาด้วย โดยรายนามผู้ที่ได้รับเชิญมีดังนี้
  1. ผู้แทนรัฐบาล ประกอบด้วย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี และผู้ติดตาม 4 คน โดยนิวัฒน์ธำรง มอบหมายให้ ชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหน้าคณะแทน (ผู้ติดตามประกอบด้วย พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ)
  2. ผู้แทนวุฒิสภา ประกอบด้วย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และผู้ติดตาม 4 คน (ผู้ติดตามอีก 1 คน คือ พีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์)
  3. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง 4 คน (คณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1 คน ประกอบด้วย บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง ด้านสืบสวนสอบสวน สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการการมีส่วนร่วม และภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง)
  4. ผู้แทนพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค และผู้ติดตาม 4 คน โดยจารุพงศ์มอบหมายให้ วิโรจน์ เปาอินทร์รองหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าคณะแทน (ผู้ติดตามประกอบด้วย ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย และวันมูหะมัดนอร์ มะทา กรรมการยุทธศาสตร์พรรค)
  5. ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และผู้ติดตาม 4 คน (ผู้ติดตามประกอบด้วย จุติ ไกรฤกษ์เลขาธิการพรรค ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค และนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค)
  6. ผู้แทนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ และผู้ติดตาม 4 คน (ผู้ติดตามประกอบด้วย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำ กปปส. และเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส.)
  7. ผู้แทนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกอบด้วย จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน และผู้ติดตาม 4 คน (ผู้ติดตามประกอบด้วย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ธิดา ถาวรเศรษฐ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ และก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.)
โดยการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียดตั้งแต่เวลา 13.30 น. จนประยุทธ์ จันทร์โอชาตัดสินใจให้มาประชุมกันใหม่ในวันรุ่งขึ้น (22 พฤษภาคม 2557) เวลา 14.00 น.[23] เพื่อหาทางออกของประเทศร่วมกัน ภายหลังรัฐมนตรีรักษาการได้ออกมาเผยว่าท่าทีของ พล.อ. ประยุทธ์ในที่ประชุมดูแปลกไป แต่ตนเชื่อว่า พล.อ. ประยุทธคงไม่คิดรัฐประหารแน่นอน[ต้องการอ้างอิง]

22 พฤษภาคม[แก้]


ทหารบกมีส่วนสำคัญในการก่อรัฐประหารครั้งนี้
  • 14:00 น. - ประชุมร่วม 7 ฝ่าย เพื่อหาทางออกของประเทศครั้งที่ 2 ตามประกาศกอ.รส. ฉบับที่ 8/2557 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประธานในที่ประชุม ระหว่างการประชุม พลเอก ประยุทธ์ เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางที่เห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ หลังจากเวลาผ่านไปสองชั่วโมงก็ไม่มีข้อยุติ ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ กับจตุพร พรหมพันธุ์แยกไปหารือเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกัน ประยุทธ์ก็ได้หารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพไปพร้อม ๆ กัน[24]เมื่อกลับมาหารือกันต่อ ประยุทธ์ได้สอบถาม ชัยเกษม นิติสิริ ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออก ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งชัยเกษม ระบุว่า นาทีนี้ไม่ลาออก และต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย ประยุทธ์จึงตอบกลับว่าจะยึดอำนาจการปกครอง[25] และสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ทั้งหมดถูกนำไปกักขัง[26] ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[27]
  • 17:00 น. - เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณถนนอุทยาน[29]
  • 17:30 น. - เจ้าหน้าที่ทหารเข้าคุมพื้นที่ถนนอุทยานสำเร็จ และสั่งให้กลุ่ม นปช. ยุติความเคลื่อนไหวจนกว่าจะมีคำสั่ง สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ของตน และให้อยู่ในอำนาจตามที่กำหนด[29]
  • 18:00 น. - คสช. ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรอีกครั้ง[28]
  • 18:20 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 3 ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 น. - 5.00 น. ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่[28] ผลแห่งประกาศนี้ทำให้สถานที่สำคัญหลายแห่งทั่วประเทศประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป รวมถึงระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ก็ประกาศปิดทำการก่อนเวลาเช่นกัน กล่าวคือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น.[30] รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น.[31] และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น.[32] สำหรับสายซิตี้ไลน์จะออกในเวลา 21.02 น. และสำหรับสายเอ็กซ์เพรสไลน์ จะออกจากสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเที่ยวสุดท้ายในเวลา 21.00 น.[33]
  • 18:30 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 4 บังคับให้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และโทรทัศน์ดาวเทียมทุกสถานี งดออกอากาศรายการตามปกติ และให้ใช้สัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกออกอากาศไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลง[28] ผลแห่งประกาศนี้ทำให้ ทรูวิชันส์[34] จีเอ็มเอ็มแซต[35] และซีทีเอช[36] ที่เป็นบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ต้องใช้สัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกออกอากาศไปบนช่องรายการทุกช่องโดยไม่ว่าจะเป็นช่องรายการในประเทศหรือนอกประเทศจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
  • 19:00 น. - คสช. ออกประกาศให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมกลับสู่ภูมิลำเนาตามเดิม โดยทางกองทัพบกได้จัดขบวนรถจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเพื่ออำนวยความสะดวก และได้ออกคำสั่งให้ทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ช่วยจัดการบริหารให้ประชาชนเดินทางกลับ[28]
  • 19:10 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 5 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง ส่วนวุฒิสภา ศาล และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญยังปฏิบัติหน้าต่อไป[28]
  • 19:19 น. -คสช. ออกประกาศฉบับที่ 6[28]
  • 19:42 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 7[28]
  • 20:55 น. - คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 8 โดยให้ยกเว้นข้อห้ามการออกจากเคหสถานยามค่ำคืนให้กับบางบุคคล[28]
  • 21:00 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 1 โดยให้อดีตรัฐมนตรี 18 คนเข้ารายงานตัว[37]
  • 21:06 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 9[28]
  • 23:54 น . - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 10[28]
  • 23:57 น . - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 11 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์[28]

23 พฤษภาคม[แก้]

  • 00:01 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 12[28]
  • 00:52 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 13[28]
  • 00:57 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 14[28]
  • 01:03 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 15 โดยให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิทัล และวิทยุชุมชน ทั้งหมด 15 ช่อง ตามคำสั่ง กอ.รส. ฉบับที่ 6 และ 7/2557[28]
  • 01:14 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 2 เพื่อเรียกตัวบุคคลสำคัญทั้งสิ้น 23 คน รวมยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าพบ คสช.[28]
  • 01:35 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 16[28]
  • 01:39 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 17[28]
  • 01:47 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 18[28]
  • 01:59 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 19[28]
  • 03:00 น. - ตัวแทนฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกคุมตัวได้รับการปล่อยตัว[38]
  • 09:00 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 3 เพื่อเรียกตัวบุคคลสำคัญเข้าพบเพิ่มอีก 114 คน เข้าพบ คสช. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในเวลา 10:00 น.[28]
  • 09:57 น. - อดีตคณะรัฐมนตรี รวมยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกลุ่มบุคคลตามคำสั่งที่ 1-3 ทยอยมารายงานตัวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในขณะที่ตัวแทนฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน[39][40][41][42]
  • 11:40 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 20[28]
  • 12:10 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 21[28]

รูปแบบตราเครื่องหมาย คสช.ที่แสดงบนหน้าจอ ของช่องโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาต
  • 16:32 น. - คสช. อนุมัติให้ประกาศฉบับที่ 4/2557 ไม่มีผลกับโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกเพิ่มเติม ดังนั้นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สามารถกลับมาออกอากาศได้ตามปกติ ตั้งแต่เวลา 18:00 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557[44]
  • 16:55 น. - กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเริ่มตั้งกลุ่มชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน เจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามขอคืนพื้นที่แต่ไม่สำเร็จ[45]
  • 16:59 น. - อิสสระ สมชัย แถลงว่า แกนนำกลุ่ม กปปส. ทั้งหมด 30 คน จะเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ดีเอสไอในช่วงเช้าของวันที่ 26 พฤษภาคม[46]
  • 17:07 น. - กลุ่มประชาชนเริ่มใช้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ แขวนป้ายแสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร[45]
  • 17:17 น. - กลุ่มทหารเริ่มใช้อำนาจสลายการชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมโห่ไล่จนต้องถอนตัวออกจากพื้นที่[ต้องการอ้างอิง]
  • 18:05 น. - สถานีโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกทั้ง 6 ช่อง กลับมาออกอากาศรายการตามปกติ โดยแสดงภาพสัญลักษณ์ที่ คสช.กำหนดไว้บนหน้าจอ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันการอนุโลมให้ออกอากาศ[47]
  • 18:09 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 22[28]
  • 19:30 น. - เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มสลายการชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอีกครั้ง หลังครั้งที่แล้วไม่สำเร็จ[48] มีผู้ถูกจับกุม 5 คน ทราบชื่อ 3 คน คือ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารและสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ว่าที่ร้อยตรีอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ และบุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์[49]
  • 20:10 น. - เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมพื้นที่บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมอย่างน้อย 5 ราย ทราบชื่อ 3 ราย คือ อภิชาติ พงษ์สวัสดิ์, บุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และประสานให้หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติตัดไฟบริเวณด้านหน้าอาคารและทางเดินสกายวอล์คทั้งหมด ทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทั้งบนสถานีรถไฟฟ้า และด้านหน้าอาคาร[48][50]
  • 20:15 น. - คสช. ปล่อยตัว สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย หลังเข้าควบคุมตัวขณะเข้ามารายงานตัวเมื่อช่วงบ่าย[51] ส่วนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกเจ้าหน้าที่ทหารคุมตัวขึ้นรถตู้ไปยังค่ายอดิสร จังหวัดสระบุรี และกักตัวไว้เป็นเวลา 3 วันเพื่อความปลอดภัย[52]
  • 23:30 น. - คสช. ประกาศเรียกผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลทั้งหมด เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือ และรับฟังคำชี้แจงแนวทาง ในการกลับมาออกอากาศ โทรทัศน์ระบบดิจิทัลตามปกติ ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 09:00 น. ที่กองบัญชาการรักษาความสงบแห่งชาติ[ต้องการอ้างอิง]

24 พฤษภาคม[แก้]

  • 09:35 น. - ผู้ให้บริการช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัล และโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลระดับชาติ เข้าพบ คสช. โดยคาดว่าจะสามารถออกอากาศได้ในวันเดียวกัน[53]
  • 10:25 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 5 เพื่อเรียกตัวบุคคลสำคัญทั้งสิ้น 35 คน มีทั้งสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, บุคคลสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ, บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองย้อนหลังไปจนถึง พ.ศ. 2549 และศรันย์ ฉุยฉาย (อั้ม เนโกะ) อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าพบ คสช.[54]
  • 10:40 น. - คสช. ออกประกาศเฉพาะฉบับที่ 25[55]
  • 10:50 น. - คสช. ยกเว้นประกาศฉบับที่ 4/2557 แก่ช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัลทั้งหมดโดยอนุโลม จึงสามารถกลับมาออกอากาศตามปกติอีกครั้ง ยกเว้นวอยซ์ทีวี ช่อง 21 ที่ยังระงับการออกอากาศ[53] ซึ่งแต่เดิมรวมถึงโทรทัศน์ดาวเทียม 274 ช่องรายการ ที่มีเนื้อหาสาระซึ่งไม่ขัดต่อประกาศ คสช.ด้วย[56] โดยทุกช่องที่กลับมาออกอากาศจะแสดงภาพสัญลักษณ์ที่ คสช.กำหนดไว้บนหน้าจอ
  • 10:53 น. - เจ้าหน้าที่ทหารปิดการจราจรบนถนนพหลโยธินทั้งขาเข้าและขาออก ใกล้กับสี่แยกรัชโยธิน หลังเริ่มมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาประท้วงรัฐประหาร[57]
  • 11:58 น. - เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มตรึงกำลังบริเวณด้านหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน เขตจตุจักร หลังมีผู้ชุมนุมเริ่มตั้งกลุ่มประท้วงการทำรัฐประหารอีกครั้งและมีทีท่าว่าเหตุการณ์จะบานปลาย[57]
  • 15:03 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 27[58]
  • 16:15 น. - เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเริ่มตรึงพื้นที่บริเวณทางเข้าสถานีตำรวจนครบาล บางซื่อ หลังเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สำเร็จ และต้องการเคลื่อนขบวนต่อ โดยผู้ชุมนุมเตรียมใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสในการหลีกเลี่ยงการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และเดินทางไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ[59][60]
  • 16:40 น. - กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร เริ่มใช้พื้นที่บนสกายวอล์ครอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิปักหลักชุมนุม[59]
  • 16:57 น. - เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มบุกเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม แต่ฝั่งผู้ชุมนุมขัดขืนและวิ่งไล่เจ้าหน้าที่ให้ออกจากพื้นที่ชุมนุม[59]
  • 17:00 น. - ผู้ชุมนุมบางส่วนปักหลักชุมนุมที่บริเวณสี่แยกปทุมวันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารได้ตรึงกำลังไว้ก่อน ภายหลังผู้ชุมนุมถอยร่นไปยังบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ บางส่วนหนีเข้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ แต่ไม่นานเจ้าหน้าที่ของศูนย์การค้าจะออกมาปิดประตูทางเชื่อมสกายวอล์คทั้งหมด[59]
  • 17:54 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 28 โดยระบุว่าถวายรายงานสถานการณ์ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบ และมีหนังสือตอบกลับจากสำนักราชเลขาธิการว่าความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเรียบร้อยแล้ว[61]
  • 18:00 น. - พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวได้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายหลังจึงส่งไปรายงานตัวต่อ คสช. ก่อนจะถูกย้ายตัวไปยังค่ายทหาร เช่นเดียวกับผู้เข้ารายงานตัว คนอื่นๆ[62]
  • 18:11 น. - ผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกปทุมวัน เริ่มทยอยกลับ[59]
  • 18:48 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 7, 8, 9 เนื้อหาย้ายและแต่งตั้งข้าราชการ และออกประกาศฉบับที่ 30 ให้วุฒิสภาสิ้นสุดลง[63]
  • 19:00 น. - คสช.บังคับให้ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม ที่ไม่เป็นช่องโทรทัศน์บอกรับสมาชิกหลายช่อง งดออกอากาศรายการปกติอีกครั้ง โดยช่องซีเอ็นเอ็นบีบีซี เวิลด์นิวส์ ตลอดจนช่องข่าวจากต่างประเทศทั้งหมด ถูกระงับการออกอากาศไปก่อน ตั้งแต่ประกาศที่ 27/2557 มีผลใช้บังคับ[ต้องการอ้างอิง]
  • 20:15 น. - คสช. ออกคำสั่งห้ามผู้ให้บริการโทรทัศน์ทุกช่อง มิให้เปิดรับข้อความตัวอักษร หรือการโทรศัพท์เข้าแสดงความคิดเห็นต่างๆ ภายในรายการ หากฝ่าฝืน คสช.จะลงโทษจากเบาไปหาหนักคือ ตักเตือน เรียกพบ และออกคำสั่งระงับสัญญาณช่องรายการในที่สุด[56]
  • 21:11 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 6 และฉบับที่ 10[64] และออกประกาศฉบับที่ 29, 31, 32, 33
  • 21:36 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 11 เนื้อหาย้ายและแต่งตั้งข้าราชการ และฉบับที่ 12[65]
  • 23:28 น. - สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งให้นายตำรวจ 8 รายที่เกี่ยวข้องกับทักษิณ ชินวัตร ให้ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน โดยให้ละทิ้งหน้าที่เดิมที่รับผิดชอบอยู่ รวมถึงแต่งตั้งนายตำรวจรักษาการแทน[67]

25 พฤษภาคม[แก้]

  • 8:57 น. - หัวหน้า คสช. ออกแถลงถึงเหตุการณ์ย้ายข้าราชการระดับสูงและเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงคืนวานนี้ และอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมต้องออกคำสั่งเรียกตัวบุคคลมาพบ ก็เพื่อให้มาปรับความเข้าใจเรื่องความขัดแย้ง[ต้องการอ้างอิง]
  • 10:00 น. - กลุ่มต่อต้านรัฐประหารได้เดินทางมายังร้านแมคโดนัลด์ สาขาศูนย์การค้าอมรินทร์พลาซ่า ใกล้แยกราชประสงค์ เพื่อทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร โดยทหารได้ตรึงกำลังโดยรอบ มีรายงานผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัว 1 ราย[ต้องการอ้างอิง]
  • 10:00 น. - ประวิทย์ โรจนพฤกษ์ เดินทางเข้าพบ คสช. ตามคำสั่ง โดยเข้ามาพร้อมกับ อานนท์ นำภา ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 3 คน[68] หลังจากนั้นไม่นานไพวงษ์ เตชะณรงค์, วิมลรัตน์ กุลดิลก และพิชิต ชื่นบาน ก็เดินทางเข้าพบ คสช. ตามคำสั่งเช่นกัน[69]
  • 10:10 น. - เจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 3 คน เดินทางออกจากหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ โดยไม่ได้มีอานนท์ นำภา และประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ติดตามออกมาด้วย[68]
  • 11:30 น. - กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ออกเดินทางจากสถานทูตไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มที่บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าอมรินทร์พลาซ่า ในเวลาไม่นานเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้ามาตรึงกำลัง และปิดการจราจรบนถนนวิทยุ ตั้งแต่แยกสารสินจนถึงแยกเพลินจิต เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ชุมนุมมาชุมนุมด้านหน้าสถานทูตอีก[70]
  • 14:30 น. - กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนตัวจากบริเวณหน้าศูนย์การค้าอมรินทร์พลาซา ผ่านแยกราชประสงค์ ไปทางประตูน้ำ เพื่อเดินทางไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ[ต้องการอ้างอิง]
  • 14:40 น. - คสช. ออกแถลงว่าได้ประสานให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมดำเนินคดีโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ฐานลงข้อความที่ผิดต่อประกาศ คสช. และพยายามอ้างว่ารัฐบาลไทยกำลังจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น โดยเบื้องต้นได้แจ้งให้กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร ปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อความดังกล่าวทุกวิถีทางแล้ว[71]
  • 14:51 น. - คสช. ออกแถลงว่าให้ชาวนาเข้ามารับเงินค่าจำนำที่ค่ายทหารและกองทัพอากาศ ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยใช้งบสี่หมื่นล้านบาทที่เป็นเงินกู้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการจ่ายล็อตแรก ส่วนล็อตหลังจะเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศทั้งหมดห้าหมื่นล้านบาท โดย คสช. คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน ในการจ่ายเงินค่าจำนำให้ชาวนาครบทุกราย ส่วนระยะเวลาการชำระคืนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 14-15 เดือน ถึงจะสามารถปลดหนี้ส่วนนี้ได้[72]
  • 15:00 น. - กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว[ต้องการอ้างอิง]
  • 16:02 น. - วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวความมั่นคง หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รายงานอ้างถึงคำแถลงของ คสช. ว่าผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐอเมริกา โทรศัพท์ถึง พลเอก ประยุทธ์ โดยเชื่อใจและให้กำลังใจ พลเอก ประยุทธ์ ในรัฐประหารครั้งนี้[73]
  • 16:12 น. - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่าเศร้าสลดกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และต้องการให้ คสช. คืนอำนาจแก่ประชาชนโดยเร็ว[74]
  • 16:23 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 37 ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-118 และความผิดตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช. โดยให้ยกเว้นคดีความผิดในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ. มั่นคง) และ พ.ร.บ. บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน[75] ภายหลังมีประกาศเพิ่มเติมว่าความผิดข้างต้น ห้ามจำเลยแต่งตั้งทนายมาสู้คดี และจำเลยไม่มีสิทธิ์นำคดีไปยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา[ต้องการอ้างอิง]
  • 18:31 น. - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว โดยให้รอรับพระบรมราชโองการ ที่กองบัญชาการทหารบกในเวลา 10:49 น. ของวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557[76]
  • 19:50 น. - พลโท ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 สั่งปลด พลตำรวจตรี กริช กิติลือ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ละทิ้งหน้าที่ปัจจุบัน และย้ายเข้ามาช่วยราชการโดยไม่มีตำแหน่งใน สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 หลังมีเบาะแสว่า พลตำรวจตรี กริชแอบให้ความช่วยเหลือพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายพันตำรวจโท ทักษิณ[77]
  • 19:58 น. - คสช. ทวิตอย่างเป็นทางการ ขอความร่วมมือให้ประชาชนหรือร้องขอให้บุคคลในครอบครัว ไม่ออกมาเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านการทำงานของ คสช. เพราะถึงทำไปก็ไม่มีประโยชน์ และเจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิ์ดำเนินการตามคำสั่งภายใต้กฎอัยการศึกและประกาศหรือคำสั่งของ คสช. และถ้าประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับบาดเจ็บ จะไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง[78]
  • 20:33 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 14, 15 และ 16 โดยให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม 38 คน โดยรวมอรรถชัย อนันตเมฆ อดีตข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี[79] และฉบับที่ 17 อนุญาตให้ขนส่งสินค้าทางบก/ทางน้ำ/ทางอากาศในห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกเคหสถาน แต่เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ ถ้าพบสิ่งผิดปกติ[80]
  • 21:09 น. - ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 ประกาศยกเลิกคำสั่งย้าย พลตำรวจตรี กริช กิติลือ หลังมีหนังสือส่งมาอีกฉบับว่า ตัวหนังสือที่ส่งมาก่อนหน้ามีเหตุขัดข้องบางประการ[81]
  • 21:34 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 38[82]
  • 22:45 น. - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับการปล่อยตัวจากค่ายทหาร[83]
  • 23:45 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 19 โดยให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่ม 2 คน[85]

26 พฤษภาคม[แก้]

  • 9:25 น. - ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ออกมายืนยันว่าพร้อมจ่ายค่าจำนำให้ชาวนาภายในสามวัน โดยจะจ่ายครบ 830,000 คน ภายในเดือนมิถุนายนนี้[ต้องการอ้างอิง]
  • 9:49 น. - เจ้าหน้าที่ทหารคุมตัวสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมแกนนำ กปปส. ออกจากค่ายทหาร และพาเข้ารายงานตัวในคดีกบฏกับสำนักงานอัยการสูงสุด[86]
  • 10:49 น. - กองทัพบกจัดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ [87][88]
  • 11:24 น. - พลเอก ประยุทธ์ แถลงข่าวหลังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหัวหน้า คสช.[89]ความตอนหนึ่งว่า จำเป็นต้องรัฐประหารเพื่อให้ประเทศเดินหน้า จากนี้จะแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราว แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ระหว่างนี้ คสช. จะบริหารราชการไปพลางก่อน[90]
  • 12:00 น. - ศาลอาญามีคำสั่งประทับรับฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องสุเทพ เทือกสุบรรณ ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีมีคำสั่งสลายการชุมนุมของ นปช. เมื่อ พ.ศ. 2553 ส่วนคดีกบฏ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ได้มีการพิจารณา[91]
  • 14:00 น. - สุเทพ เทือกสุบรรณ ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝากของธนาคารกสิกรไทยเพื่อขอประกันตัว ต่อมาศาลอนุมัติคำร้องให้ประกันตัวได้ โดยตีราคาการประกันตัวที่ 600,000 บาท และมีข้อแม้ว่าห้าม สุเทพ เทือกสุบรรณ เดินทางออกจากประเทศ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากศาล อีกทั้งศาลนัดให้มาตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ภายหลังเจ้าหน้าที่คุมตัวขึ้นรถและเดินทางกลับไปยังบ้านพักตามปกติ[91]
  • 15:28 น. - แกนนำ กปปส. 13 ราย ได้รับการประกันตัวชั่วคราว หลังวางเงินประกันตัวคนละ 100,000 บาท อัยการนัดสอบปากคำเพิ่มรายบุคคลภายหลัง[92]
  • 16:30 น. - กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารเดินทางมาชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอีกครั้งเป็นวันที่ 3[ต้องการอ้างอิง]
  • 18:30 น. - กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารแยกย้ายออกจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและบริเวณข้างเคียง[ต้องการอ้างอิง]
  • 20:08 น. - ทรูวิชันส์ ออกแถลงกรณีการระงับการออกอากาศช่องข่าวสารต่างประเทศ 14 ช่อง เช่น ซีเอ็นเอ็น, บีบีซี เวิลด์นิวส์, ซีเอ็นบีซี ว่าช่องรายการดังกล่าวไม่สามารถควบคุมเนื้อหาบนจอโทรทัศน์ได้ อาจเข้าข่ายความผิดตามประกาศของ คสช. จึงจำเป็นต้องระงับการส่งสัญญาณชั่วคราว[93]
  • 21:07 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 39, 40 และ 41[94][95]
  • 21:45 น. - พันเอก ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษกกองทัพบก แถลงกรณีที่มีการแชร์ข้อความในเฟซบุ๊ก จากบุคคลที่อ้างว่าชื่อ "ตาล" ที่ลงประกาศจ้างบุคคลชุมนุมต่อต้าน คสช. โดยมีค่าแรงให้วันละ 400 บาทถึง 1,000 บาทต่อคน[96] รวมถึงระบุว่ามีนายทุนตู้ม้าเถื่อนคอยหนุนหลังสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนออกมาต้าน คสช. และขอประชาชนอย่าชุมนุมต่อต้าน คสช.[97]

27 พฤษภาคม[แก้]

  • 14:00 น. - พล.ต.พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก ได้เชิญตัวศุภฤกษ์ ธงไชยฤทธิ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เข้าพบที่ห้องทำงานเพื่อแจ้งข้อความจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้รับทราบ พร้อมขอความร่วมมือกรณีการตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ รู้สึกไม่ดีต่อการที่ต้องถูกตั้งคำถามในลักษณะรุกไล่[99]
  • 15:40 น. - ทหารเข้าควบคุมตัวจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ถนนเพลินจิต ท่ามกลางผู้สื่อข่าวจำนวนมาก โดยจาตุรนต์มิได้ขัดขืน[100][101]
  • 20:40 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 42 โดยปรับเวลาห้ามออกนอกจากเคหสถาน จากเดิมเป็น เวลา 00.01 - 4.00 น. และออกคำสั่งเฉพาะฉบับที่ 24

28 พฤษภาคม[แก้]

  • 15:55 น. - เว็บไซต์เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมถูกปิดชั่วคราว ผู้ใช้บริการของทีโอที เมื่อเข้าเพจดังกล่าวจะพบข้อความ “ปิดชั่วคราว ตามคำสั่ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย” ก่อนกลับมาใช้ได้ตามปกติเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.[102]
  • 16:45 น. - เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจาตุรนต์มายังกองบังคับการปราบปราม เพื่อเตรียมนำตัวไปขึ้นศาลทหาร นับเป็นพลเรือนคนแรกที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร[103]
  • 18:30 น. - เกิดความวุ่นวายระหว่างการชุมนุมประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทหารจับผู้ชุมนุมไป 2 คน ผู้ชุมนุมสลายตัวอีกประมาณ 10 นาทีต่อมา[104]

29 พฤษภาคม[แก้]

  • 12:03 น. - คสช. ออกประกาศ ฉบับที่ 46/2557 ห้ามติดตามทวงหนี้ชาวนาอย่างไม่เป็นธรรม และออกคำสั่ง ฉบับที่ 30-31 เรียกบุคคลมารายงานตัวเพิ่ม[105]
  • 15:35 น. - ตำรวจปิดการจราจรรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ห้ามบุคคลภายนอกเข้า จนกว่าการชุมนุมจะยุติ[106]

6 มิถุนายน[แก้]

  • 21:30 น. - เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หลังจากไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. โดยมีรายงานว่าถูกนำไปควบคุมตัวไว้ที่ค่ายทหาร ร.21 รอ. ชลบุรี[107]

8 มิถุนายน[แก้]

  • 19:15 น. - โทรทัศน์ทุกช่องเริ่มทยอยนำตราเครื่องหมาย คสช.ออกจากมุมขวาบนของหน้าจอ (มีเพียงช่องพีพีทีวีที่แสดงอยู่มุมซ้ายบน) หลังจากได้รับอนุญาตแล้ว[108] โดยในส่วนโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก ช่องแรกที่นำออกคือ ททบ. ตามด้วยช่อง 7 สี, โมเดิร์นไนน์ทีวี, ไทยพีบีเอส, ไทยทีวีสีช่อง 3 และ สทท. อนึ่ง ตราเครื่องหมายของ คสช.ดังกล่าว ยังคงใช้แสดงที่มุมขวาบนของหน้าจอโทรทัศน์ ขณะออกประกาศหรือคำสั่งแทรกรายการปกติของทุกช่อง

9 มิถุนายน[แก้]

  • เจ้าหน้าที่ทหารจับกุมทอม ดันดี ที่ ต.วังจันทร์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และนำส่งศาลทหาร[109]

10 มิถุนายน[แก้]

  • ฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คสช. ปลัดกระทรวง และเจ้ากรมพระธรรมนูญ รวม 28 คนต่อศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและกบฏ จากการประกาศกฎอัยการศึกและยึดอำนาจการปกครองประเทศ[110] ต่อมา ศาลอาญาให้ยกฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในคดีนี้ ศาลพิจารณาว่า ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรถือเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเป็นผู้เสียหาย จึงมีพนักงานอัยการเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล[111]

13 มิถุนายน[แก้]

  • คสช. ออกประกาศฉบับที่ 64 ประกาศยกเลิกห้ามประชาชนออกจากเคหสถานทั่วราชอาณาจักร[112]

กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย[แก้]

กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) (อังกฤษPeace and Order Maintaining Command (POMC)) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งตามประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 2/2557 หลังจากการประกาศกฎอัยการศึก ตั้งกองบัญชาการที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

การระงับการออกอากาศ ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชน[แก้]

ตามคำสั่งที่ 6/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือ ระงับการถ่ายทอดออกอากาศ ของช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชน
  1. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอเชียอัปเดต
  2. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ดีเอ็นเอ็น
  3. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ยูดีดี
  4. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม พีแอนด์พี
  5. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม โฟร์แชนแนล
  6. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอ็มวี 5
  7. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม บลูสกาย
  8. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอเอสทีวี
  9. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ทีนิวส์
  10. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอฟเอ็มทีวี
  11. วิทยุชุมชน ที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้จัดตั้งตามกฎหมาย
และตามคำสั่งที่ 7/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือ ระงับการถ่ายทอดออกอากาศ ของช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชนเพิ่มเติม
  1. สถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี
  2. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ฮอตทีวี
  3. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม One Rescue
  4. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ[แก้]

ดูบทความหลักที่: คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งมีประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้า ซึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครองราชอาณาจักรไทยไว้ได้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การบริหารและนโยบาย[แก้]

คืนวันที่ 22 พฤษภาคม คสช. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง เว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากนี้ ยังสั่งยุบคณะรัฐมนตรีรักษาการ แต่วุฒิสภา ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังทำหน้าที่ต่อ[113]คสช. ออกประกาศให้หัวหน้าคณะใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรี[114] และยังวางตัวสมาชิกสั่งการกระทรวงและส่วนราชการที่เทียบเท่า[115][116]
ในวันที่ 23 พฤษภาคม พลเอก ประยุทธ์ แถลงว่า คสช. มุ่งดำเนินการปฏิรูปประเทศในทุกด้านก่อนมีการเลือกตั้ง มีผู้เล่าว่า พลเอก ประยุทธ์ ชี้แจงต่อหน่วยงานต่าง ๆ ว่า จำเป็นต้องรัฐประหารเพราะคู่ขัดแย้งไม่สามารถตกลงหาทางออกให้กับประเทศ ทั้งส่งผลให้ไม่มีเงินเดือนจ่ายข้าราชการในปีงบประมาณ 2558 และไม่มีใครทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เขาย้ำว่าถือการปราบปรามขบวนการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายหลัก และเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ คือ ปัญหาโครงการรับจำนำข้าว เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ภายใน 15-20 วัน เขากล่าวถึงแผนพัฒนาประเทศที่จะดำเนินการในอนาคต คือ โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง[117] พลเอก ประยุทธ์กล่าวว่า จะตั้งสภาปฏิรูปและสมัชชาแห่งชาติเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศ และจะปกครองประเทศต่อไปจนกว่าสถานการณ์ต้องการรัฐบาลชั่วคราว[118]
ไม่มีคำมั่นว่าจะกลับคืนสู่การปกครองพลเรือนโดยเร็ว ซึ่งผิดแปลกจากรัฐประหารก่อนหน้า[119] ยิ่งไปกว่านั้น คสช. ประกาศว่า หัวหน้าคณะจะตัดสินใจนโยบายการบริหารประเทศ ทั้ง "ระยะสั้นและระยะยาว"[115]
วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 คสช. ยุบวุฒิสภาที่มีอยู่และให้หัวหน้าคณะมีอำนาจนิติบัญญัติ[120] คสช. ยังสั่งให้อำนาจตุลาการดำเนินการภายใต้คำสั่ง[121] คสช. ย้ายพลตำรวจเอก อดุลย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าคณะฯ และธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปดำรงตำแหน่งที่ไม่มีหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี อดุลย์และธาริตถูกมองว่าภักดีต่อรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ[120] พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ได้รับแต่งตั้งแทนอดุลย์[122]
ภายหลัง คสช. ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบรัฐประหารครั้งนี้แล้ว แต่ไม่อธิบายว่าการสนองดังกล่าวเป็นการสนับสนุน[123] ต่อมา วันที่ 26 พฤษภาคม มีพิธีสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอก ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. พระบรมราชโองการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหัวใจสร้างความชอบธรรมแก่รัฐประหาร[124]
วันที่ 25 พฤษภาคม คสช. ให้ศาลทหารมีอำนาจไต่สวนคดีเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติหรือละเมิดคำสั่งของ คสช. พลเรือนไม่ได้รับอนุญาตให้มีทนายความในศาลทหาร[125] วันเดียวกัน ศสช. ค้นบ้านพักของสมยศ พฤกษาเกษมสุขบรรณาธิการนิตยสารซึ่งปัจจุบันถูกจำคุกสิบเอ็ดปีฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2556 คสช. กักขังภรรยาเขา ซึ่งกำลังรณรงค์ด้านนักโทษการเมือง และบุตรชาย ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[126] นักวิจารณ์กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยถูก คสช. กักขังไว้เช่นกัน[127]
วันที่ 26 พฤษภาคม ประยุทธ์แถลงทางโทรทัศน์ว่า จะให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในสิบห้าเดือน โดยขั้นแรกจะมุ่งสร้างความปรองดองในสามเดือน ขั้นที่สองจะตั้งคณะรัฐมนตรีและร่างรัฐธรรมนูญเป็นเวลาหนึ่งเดือน ขั้นที่สาม ประยุทธ์กล่าวว่า "ขั้นที่สามคือการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้ระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย" และ "จะมีการปรับกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อให้ได้คนดีและซื่อสัตย์ปกครองประเทศ" เขายังกล่าวอีกว่า "คนไทยอาจไม่มีความสุขมาเก้าปี แต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคม จะมีความสุข"[128]
วันที่ 27 พฤษภาคม คสช. มีคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน[129] วันที่ 28 พฤษภาคม มีคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มอีก 5 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน[130]
หลัง คสช. ประกาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนว่าจะจัดการกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยว่า "เรามองว่าแรงงานเถื่อนเป็นภัยคุกคาม"[131] ผู้อพยพต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งเป็นหญิงและเด็กเกินครึ่ง ออกนอกประเทศทันทีในวันเดียวกัน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น "การไหลบ่าเฉียบพลัน" และแสดงความกังวล[132]
วันเดียวกัน กองทัพไทยส่งผู้แทนไปยังประเทศจีนเพื่อประชุมความมั่นคงในภูมิภาคและการฝึกซ้อมร่วม ซึ่งความพยายามสานสัมพันธ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังชาติตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหาร คสช. แถลงว่า ประเทศจีนและเวียดนามสนับสนุนตน นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของประเทศมาเลเซียยังมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยด้วย ซึ่งกองทัพไทยแถลงว่าการเยือนดังกล่าวแสดงถึงความเข้าใจอันดีต่อสถานการณ์ในประเทศไทย[133]
วันที่ 17 มิถุนายน หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล เขียนว่า คสช. กำลังขยายการควบคุมเหนือรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งของไทย รวมถึงการบินไทยและ ปตท. ซึ่งมีสินทรัพย์กว่า 360,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รัฐวิสาหกิจเป็นสมรภูมิระหว่างสองกลุ่มแยกการเมือง จนลงเอยด้วยรัฐประหารในที่สุด[134]
ผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าในภาคเหนือของประเทศไทยถูกจับกุมและจะได้รับการปล่อยตัวต่อเมื่อจ่าย "ค่าคุ้มครอง" ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน มีผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าถูกจับกุมกว่า 1,000 คน กลุ่มสิทธิกล่าวว่า นายจ้างในภาคใต้ของประเทศไทยแนะนำคนงานต่างด้าวของตนให้ไปซ่อนตัวในป่าหรือสวนยางพาราเพื่อเลี่ยงการจับกุม[135]
วันที่ 23 มิถุนายน มีประกาศว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองามเป็นผู้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้[136] รัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้จะกำหนดให้ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปและคณะรัฐมนตรีชั่วคราว เป็นต้น สภานิติบัญญัติมีสมาชิก 200 คน มาจากการเลือกโดย คสช. และเกินกึ่งหนึ่งจะเป็นนายทหาร[137] สภาปฏิรูปจะมีสมาชิก 250 คน ซึ่งมาจากการเลือกโดย คสช. เช่นกัน[138] รัฐธรรมนูญชั่วคราวยังกำหนดการเตรียมรัฐธรรมนูถาวรฉบับใหม่ซึ่งจะมีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีสมาชิก 35 คน โดย 20 คนมาจากสภาปฏิรูป 5 คนมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 5 คนมาจากคณะรัฐมนตรีชั่วคราว และ 5 คนมาจาก คสช.[136] สภาปฏิรูปจะอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญก่อนกราบทูลฯ พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยผ่านเป็นกฎหมาย[138] เดิมกำหนดให้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับร่างได้รับอนุมัติจากพลเรือนในการลงประชามติทั่วประเทศก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทว่า คสช. ไม่อนุมัติข้อกำหนดดังกล่าว และข้อกำหนดนี้ถูกลบไป[136] รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะกำหนดให้ คสช. ควบคุมคณะรัฐมนตรีชั่วคราวและให้อำนาจ คสช. ออกคำสั่งใด ๆ ที่เห็นว่าชอบด้วยกฎหมายเพื่อความมั่นคงของชาติ[137]

มาตรการเศรษฐกิจ[แก้]

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารประเทศหลังรัฐประหารครั้งนี้เน้นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นวัตถุประสงค์หลัก คสช. เริ่มให้ ธ.ก.ส. นำเงินสภาพคล่อง 40,000 ล้านบาทมาจ่ายหนี้โครงการรับจำนำข้าว 92,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม นอกจากนี้ ยังมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และยังเร่งรัดจัดทำงบประมาณปี 2558[139]
วันที่ 28 พฤษภาคม พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ขอเวลา 2 สัปดาห์ทบทวนโครงการลงทุนตามแผนแม่บทกระทรวงคมนาคม 2 ล้านล้านบาท[140] (ดูเพิ่มที่ ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ….)
วันที่ 12 มิถุนายน จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558-2565 กรอบเงินลงทุน 3 ล้านล้านบาท มี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์รถไฟ ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถนน ทางน้ำและทางอากาศ โดยเพิ่มแผนแม่บทโครงการทางอากาศจากแผนแม่บท 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถใช้เงินลงทุนของตัวเอง[141]

การจับกุมและเรียกตัวบุคคลสาธารณะ[แก้]

รักษาการนายกรัฐมนตรี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการเจรจา 7 ฝ่าย เดินทางออกจากสำนักงานที่กระทรวงการคลังทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมโดยทหารทันทีหลังเกิดรัฐประหาร[142] จากนั้น คสช. สั่งให้เขาและคณะรัฐมนตรีที่ไม่ถูกจับกุมมารายงานตัวภายในวันนั้น[143] มีรายงานว่า นิวัฒน์ธำรงพยายามตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพมหานคร แต่สถานทูตปฏิเสธรายงานดังกล่าว[144]
คืนวันที่ 22 พฤษภาคม ทหารจับกุมนักการเมืองเพิ่มเติม รวมทั้ง ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง[145] วันรุ่งขึ้น คสช. เรียกสมาชิกพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร รวมทั้ง ยิ่งลักษณ์[146][147] นิวัฒน์ธำรงและยิ่งลักษณ์มารายงานตัวต่อ คสช. ในเช้าวันนั้น[148] ยิ่งลักษณ์ถูกกักขังอยู่ที่ "เซฟเฮาส์" ที่ไม่เปิดเผย[149][119]
ต่อมา คสช. เรียกบุคคลที่โดดเด่นอีก 114 คนจากทั้งสองฝ่าย[150] และแถลงว่าผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะถูกจับกุมและดำเนินคดี[151]นักเคลื่อนไหว สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก. ลายจุด) เป็นบุคคลแรกที่ปฏิเสธไม่ไปรายงานตัว โดยกล่าวว่า "โคตรขำ ไม่ไปรายงานตัวถือเป็นความผิดอาญา" เขาท้าทายการเรียกโดยโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า "Catch me if you can" (จับฉันเลยถ้าจับได้) [152][153] ศสช. สนองโดยแถลงในเช้าวันที่ 24 พฤษภาคมว่า จะส่งทหารไปจับตัวผู้ไม่มารายงานตัว[154]
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นบุคคลแรกที่ถูกไต่สวนในศาลทหารเนื่องจากไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โฆษก คสช. ยังกล่าวว่า การจัดการแถลงข่าวต่อสื่อต่างประเทศถือว่าไม่เหมาะสมและขัดต่อนโยบาย คสช.[155][156][157] เขาถูกตั้ง 3 ข้อหา คือ ขัดคำสั่ง คสช., ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องและให้ทำผิดกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) และความผิดต่อความมั่นคงหรือก่อการร้ายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ รวมมีโทษระวาง 14 ปี[158]
วันที่ 5 มิถุนายน สมบัติถูกจับกุมที่จังหวัดชลบุรี ทหารตามรอยเขาผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้เลขที่อยู่ไอพีที่เขาใช้โพสต์ความเห็นของเขา[159] กองทัพแถลงว่า สมบัติจะได้รับโทษจำคุกเจ็ดปีฐานชักชวนให้ประชาชนละเมิดคำสั่ง คสช. ซึ่งเป็น "กฎหมายของแผ่นดิน" นอกเหนือไปจากโทษจำคุกสองปีฐานขัดคำสั่ง คสช. กองทัพยังกล่าวว่าผู้ให้ที่พักพิงสมบัติจะได้รับโทษจำคุกสองปี[160]
กองทัพยังสั่งให้นักการทูตไทยดำเนินมาตรการเพื่อบังคับให้นักวิชาการนอกประเทศที่ถูกเรียกให้รายงานตัวกลับประเทศ[161] เป้าหมายหนึ่ง คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต กองทัพสั่งทั้งเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโตเกียวและกงสุลใหญ่ในโอซะกะว่า หากทั้งสองไม่สามารถบังคับให้ปวินกลับมาได้ จะถูกย้ายหรือให้พ้นจากราชการ[161]
คสช. ยังสั่งให้นักเคลื่อนไหวที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและอยู่นอกประเทศมารายงานตัว รวมทั้ง รองศาสตราจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์ และจักรภพ เพ็ญแข โดยสั่งให้มารายงานตัวภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2557[162]
จิตรา คชเดชถูกจับกุมตามหมายจับศาลทหารเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน[163] วันที่ 17 มิถุนายน รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสานงานและเข้ารายงานตัวกับ คสช.[164] ก่อนหน้านี้ วรเตน์ ภาคีรัตน์ อ้างว่าป่วยและส่งพัชรินทร์ ภาคีรัตน์ มารายงานตัวแทน[165]
วันที่ 24 มิถุนายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติปล่อยตัวกริชสุดา คุณะแสน (เปิ้ล สหายสุดซอย) นักเคลื่อนไหวเสื้อแดง หลังมีข่าวถูกทหารทารุณจนเสียชีวิต[166] กริชสุดาถูกตำรวจจับกุมที่จังหวัดชลบุรีตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม[167]

การควบคุมกิจกรรมของประชาชนและสื่อ[แก้]

หลังประกาศรัฐประหารแล้ว คสช. กำหนดห้ามออกนอกเคหสถานเวลาค่ำคืนทั่วราชอาณาจักรระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 5.00 น.[168]และยังห้ามชุมนุมทางการเมืองและสั่งผู้ประท้วงทั้งหมดให้สลายตัว[169] และยังสั่งให้สถานศึกษาทุกแห่งปิดตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 25 พฤษภาคม 2557[170]
ยิ่งไปกว่านั้น คสช. สั่งให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งหยุดออกอากาศรายการปกติและให้แพร่สัญญาณรายการของกองทัพบกเท่านั้น[171] คสช. จับกุมวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการสถานีไทยพีบีเอส หลังเขาอนุญาตให้แพร่สัญญาณรายการพิเศษเกี่ยวกับรัฐประหารทางยูทูบแทนโทรทัศน์[172][173] ในรายการ มีการสัมภาษณ์นักวิชาการหลายคน และให้ความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับรัฐประหาร ไทยพีบีเอสกล่าวว่าวันชัยถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เพื่อ "ปรับความเข้าใจระหว่างสื่อและกองทัพ"[174]
วันที่ 23 พฤษภาคม คสช. เรียกตัวหัวหน้าสื่อมายังสโมสรทหารบกและสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ตรวจพิจารณาข้อมูลข่าวสารใดที่ดูยั่วยุ ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีความลับของทางราชการ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือหมิ่นประมาท คสช.[175] นอกจากนี้ ยังขู่ปิดสื่อสังคมหากผู้ให้บริการไม่สามารถสกัดดั้นข้อมูลข่าวสารซึ่งปลุกระดมความไม่สงบหรือปลุกระดม "การคัดค้านการรักษาความสงบ"[176]
บ่ายวันที่ 23 พฤษภาคม สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบอะนาล๊อค (ช่องฟรีทีวี) ยกเว้นไทยพีบีเอส ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศรายการปกติ[177] หลัง คสช. สั่งผู้ให้บริการสกัดกั้นความพยายามการแบ่งแพร่สัญญาณ (broadcast sharing) บนอินเทอร์เน็ตและสั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปิดโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต[178]
วันที่ 24 พฤษภาคม องค์การสื่อออกจดหมายเปิดผนึกกระตุ้นให้ คสช. ยุติการจำกัดเสรีภาพสื่อให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้[179] คสช. สนองโดยเรียกผู้ให้บริการสื่อทั้งหมด โดยบอกว่าพวกเขาจำเป็นต้องเข้าประชุมกับ คสช.[180]
เพื่อสนองต่อกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารบนเครือข่ายสังคม คสช. สั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้บล็อกเฟซบุ๊กในประเทศไทยเป็นระยะ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม เย็นวันนั้น เฟซบุ๊กถูกบล็อกทั่วประเทศเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมง[181] ต่อมา เมื่อเวลา 17.00 น. รองโฆษก คสช. ออกมาแถลงว่า เป็นเหตุขัดข้องทางเทคนิค คสช. ไม่มีนโยบายปิดเฟซบุ๊ก และจากการตรวจสอบพบข้อขัดข้องทางเทคนิคที่เกตเวย์ (gateway) ด้านกระทรวงไอซีทีและ กสทช. ก็ออกมายืนยันทำนองเดียวกัน[182] พลตำรวจตรี พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงไอซีที ชี้แจงว่าเกิดจากปริมาณผู้ใช้ที่คับคั่ง ซึ่งเกิดจุดหน่วงที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนป้ายข้อความคำสั่งของ คสช. ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต[183] ซึ่งขัดกับคำให้สัมภาษณ์ของสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงไอซีที ต่อสำนักข่าวรอยเตอร์สที่ว่ามีการบล็อกเฟซบุ๊กจริง[184]
เทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย แถลงต่อเว็บไซต์เดอะเน็กซ์เว็บในเวลาต่อมาว่าได้รับคำสั่งจาก กสทช. ให้ระงับการเข้าถึงเฟซบุ๊กเป็นการชั่วคราว[185] ทำให้พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. ออกมากล่าวตอบโต้ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของดีแทคเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เคารพในกฎกติการมารยาท จึงอาจตัดสิทธิ์ไม่ให้ดีแทคเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4 จี บนย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์[186][187]
ก่อนหน้านี้ จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม กระทรวงไอซีแถลงว่าได้บล็อกยูอาร์แอลไปกว่า 100 ยูอาร์แอลภายใต้กฎอัยการศึก[188]
วันที่ 27 พฤษภาคม คสช. จะส่งข้าราชการไปยังประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นเพื่อให้เฟซบุ๊ก กูเกิลและไลน์ตรวจพิจารณาสื่อสังคมเข้มงวดขึ้น[189]
ต่อมา มีประกาศเปลี่ยนเวลาห้ามออกนอกเคหสถานจากเดิมเป็น 0.00 น. ถึง 4.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557[190]
วันที่ 28 พฤษภาคม เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกปิดกั้นทางหน้าแรก นับเป็นการถูกปิดกั้นครั้งแรกหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549[191]
วันที่ 1 มิถุนายน มีคลิปจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แสดงภาพหญิงถูกกลุ่มชายนำตัวขึ้นรถแท็กซี่สีชมพูที่แยกอโศก ด้านพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่าจะไม่จับกุมผู้ชุมนุมขณะมีฝูงชนเป็นจำนวนมาก แต่จะรอให้ออกจากที่ชุมนุมก่อน และกล่าวถึงกรณีการนำตัวขึ้นรถแท็กซี่ว่า กลุ่มชายดังกล่าวอาจไม่ใช่ตำรวจ อาจเป็นสามีพาตัวกลับบ้าน เพราะไม่ต้องการให้มาชุมนุม[192] ฝ่ายผู้กำกับการสถานีตำรวจลุมพินีออกมายอมรับว่า ชายกลุ่มดังกล่าวเป็นตำรวจสืบสวนนอกเครื่องแบบ[193]
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน วินธัย โฆษก คสช. ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการทำความเข้าใจกับผู้สนับสนุน กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ให้หยุดแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และเตือนกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองและแกนนำคู่ขัดแย้งให้หยุดกล่าวหา คสช.[194] วันเดียวกัน อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ผู้ที่โพสต์หรือกดถูกใจ (like) โพสต์ที่ชวนคนมาชุมนุมบนเฟซบุ๊กถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ การชุมนุมโดยมีเจตนาแสดงออกถึงการต่อต้าน เช่น ปิดปากกันทุกคน หรือกินแซนด์วิชที่ทราบว่ามีการอ่านแถลงการณ์ด้วย แสดงว่ามีเจตนา และว่า ขณะนี้ การกินแซนด์วิชเริ่มเข้าข่ายมีความผิดเหมือนกับการชู 3 นิ้วแล้ว[195]
วันที่ 13 มิถุนายน คสช. ประกาศยกเลิกห้ามประชาชนออกจากเคหสถานทั่วราชอาณาจักร[112]
วันที่ 22 มิถุนายน ตำรวจจับอุษณีย์ เศรษฐสุนทรี และทหารรับตัวไปกักขัง เนื่องจากใส่เสื้อ "Respect My Vote" (เคารพเสียงของฉัน)[196]
วันที่ 23 มิถุนายน ตำรวจเตรียมรับมือกิจกรรมรำลึกการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หากมีนัยยะทางการเมืองจะถือว่าผิดกฎหมายและจะถูกจับกุม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่บันทึกภาพผู้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปกครองประเทศของ คสช. ส่งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดี จะมีรางวัลให้ภาพละ 500 บาท[197]
วันที่ 24 มิถุนายน มานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายเสรีภาพสื่อ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ทหารสั่งหนังสือพิมพ์ห้ามไม่ให้ตีพิมพ์เรื่องกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร[198] วันเดียวกัน มีรายงานว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ใช้โปรแกรมประยุกต์เพื่อเก็บข้อมูลที่อยู่อีเมล แอพพลิเคชันดังกล่าวถูกเฟซบุ๊กระงับไปแล้วสองครั้ง ต่อมา ปอท. โพสต์ให้เหตุผลโปรแกรมประยุกต์ดังกล่าวว่า การเก็บรวบรวมพยานหรือข้อมูลผู้ใช้ดังกล่าวทำให้ ปอท. สามารถจัดการกับพยานได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การดำเนินคดีมากขึ้นและจะทำให้สังคมออนไลน์สะอาดขึ้น หน้าสถิติโปรแกรมประยุกต์ออนไลน์ของเฟซบุ๊กแสดงว่า โปรแกรมประยุกต์ทั้งสองได้ที่อยู่อีเมลไปหลายร้อยที่อยู่ก่อนถูกปิด[199]
วันที่ 25 มิถุนายน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ตั้งคณะทำงานเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลที่เป็นเท็จกระทบกับการทำงานของ คสช.[200]

กลุ่มกิจกรรม "คืนความสุขให้คนในชาติ"[แก้]

คสช.จัดรณรงค์ "คืนความสุขให้คนในชาติ" โดยจัดการเฉลิมฉลองรับรัฐประหารซึ่งกองทัพจัดแสดงป๊อป โดยละเว้นการห้ามชุมนุมเกินห้าคน สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ประกาศว่าจะจัดเทศกาลดนตรีในสวนทุกวันพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ฝ่ายประยุทธ์จะจัดรายการรายสัปดาห์เพื่อสรุปงานของ คสช. ซึ่งจะไม่มีการตอบคำถามของสาธารณะ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งถูกบังคับให้แพร่สัญญาณ[201]
วันที่ 11 มิถุนายน ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คสช. ประสานงานให้ กสทช. จัดการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ทุกนัดผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และช่อง 8 หลังศาลปกครองสูงสุดพิจารณาถึงที่สุดแล้ว พร้อมเชิญผู้แทนบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชันแนล บรอดคาสติง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนต์ จำกัด(อาร์เอสบีเอส) หารือแนวทางในการชดเชย[202] โดยฝ่ายอาร์เอส เสนอให้มีค่าชดเชยเป็นเงิน 766.515 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และคณะกรรมการ กสทช. ประชุมพิจารณาการชดเชยดังกล่าว โดยออกมติให้ใช้กองทุน กทปส.ชดเชยให้อาร์เอสบีเอส เป็นเงินไม่เกิน 427.015 ล้านบาท[203] ด้านสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน โพสต์เฟซบุ๊กว่า การใช้เงินดังกล่าวไม่สมควร ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาติ ไร้สาระ และสูญเปล่า แนะนำว่า กสทช. ควรปฏิเสธ คสช. ไป เขาเสนอว่าเงินจำนวนดังกล่าวสามารถสร้างห้องสมุดประชาชนได้ทุกจังหวัด[204]
ด้านวินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกแถลงว่า คสช.ร่วมกับบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล จำกัดบริษัท พร้อมมิตร โปรดักชัน จำกัด และโรงภาพยนตร์จำนวน 160 แห่งทั่วประเทศ จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี ” ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 รอบฉายเวลา 11:00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[205]

ปฏิกิริยา[แก้]

ในประเทศ[แก้]

สนับสนุน[แก้]

บนเฟซบุ๊ก มีการเว็บเปิดแฟนเพจชื่อ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ต่อมา หลังเกิดรัฐประหาร ก็ใช้แฟนเพจเดียวกันนี้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ คสช.
ผู้ประท้วง กปปส. จำนวนมากยินดีกับประกาศรัฐประหาร ณ ที่ชุมนุม[206] พระพุทธะอิสระประกาศชัยชนะของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลบนเวทีก่อนขอให้ผู้ติตดามสลายตัวและกลับบ้าน[207] ทหารยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสลายผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐบาล แม้ยังมีผู้ปฏิเสธไม่ยอมกลับในทีแรก[206][208] ผู้ประท้วงกลุ่มสุดท้ายออกจากกรุงเทพมหานครในเย็นวันที่ 23 พฤษภาคม[209] ศสช. จัดรถทหารเจ็ดสิบคันเพื่อส่งผู้ประท้วงทั้งสองฝ่ายกลับภูมิลำเนา[210]

ทหารได้รับดอกไม้จากผู้สนับสนุน
มีรายงานประชาชนสนใจถ่ายรูปกับทหารและยานพาหนะของทหาร ทั้งมีการนำดอกไม้ อาหารและเครื่องดื่มมามอบให้ทหารในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดขอนแก่น[211]จังหวัดสุโขทัย[212] จังหวัดกาฬสินธุ์[213]
วันที่ 23 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ออกความเห็นว่า "เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะนักการเมืองของเราไม่สามารถระงับความขัดแย้งของพวกเขาได้ด้วยวิธีปกติ และทหารใช้ความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพวกเขาเป็นข้ออ้างลงมือ ตั้งแต่กำหนดกฎอัยการศึกและรัฐประหารในที่สุด ทุกกลุ่มซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองเรื้อรังนี้ควรรับผิดชอบต่อผลลัพธ์แห่งความดื้อรั้นของตน พวกเขาควรเสียสละประโยชน์ส่วนตนแก่ผลประโยชน์ของชาติ"[214]
นักวิชาการบางคนแย้งว่า ปัญหาของไทยไม่มีทางออกอื่นแล้ว[215]
มาร์ค วิลเลียมส์ (Mark Williams) แห่งบริษัทปรึกษาวิจัยเศรษฐกิจแคปิตอลอีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า "ตลาดหลักทรัพย์อาจต้อนรับรัฐประหาร" เพราะลดความไม่แน่นอนและความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้าทางการเมืองซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นได้" แต่คาดว่าผลทางบวกจะเกิดขึ้นระยะสั้น ๆ [216]
วันที่ 25 พฤษภาคม พีระศักดิ์ พอจิต อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้สัมภาษณ์ว่า คสช. ทำถูกแล้วที่ตัดสินใจยุบสภา เพราะจะทำให้ คสช. ดำเนินการล่าช้า การให้ คสช. กุมอำนาจทั้งหมดเป็นการดี เนื่องจากทำให้ คสช. ดำเนินการได้รวดเร็ว และเชื่อว่าเหตุการณ์หลังจากนี้น่าจะสงบขึ้นตามลำดับ[217]
วันเดียวกัน มีการจัดการชุมนุมต่อต้านผู้ประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้ คสช. ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง วันที่ 26 พฤษภาคม กลุ่มข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศจัดการชุมนุมคล้ายกัน[218]
ด้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีท่าทีผสมกัน แม้เขาโพสต์ลงเฟซบุ๊กขออภัยที่ไม่สามารถผลักดันแผนปฏิรูปประเทศและปกป้องประชาธิปไตยได้[219] และพร้อมร่วมคัดค้านรัฐประหาร หาก คสช. ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะปฏิรูปอะไรและประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร และมีผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริงเสนอประชาธิปไตยที่ดีกว่า[220] แต่เขาก็โพสต์สนับสนุนให้ คสช. ใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นเพื่อรับมือกับการต่อต้านรัฐประหาร[221]
หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานหลังกองทัพจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวว่า กองทัพไทยเริ่มเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อ และได้รับการช่วยเหลือจากสื่อไทยที่ส่วนใหญ่ "ยอมรับใช้" นับแต่รัฐประหาร หนังสือพิมพ์บ้านเมือง พาดหัวข่าวว่า "ชาวนารับเงินยิ้มทั้งน้ำตา" รายงานอื่นแสดงชาวนาเดินขบวนไปยังฐานทัพเพื่อมอบดอกกุหลาบและถือป้ายประกาศความปิติต่อผู้นำรัฐประหาร การเดินขบวนของชาวนาในจังหวัดภูเก็ต ลพบุรีและอุบลราชธานียังมีป้ายเดียวกันด้วย ชาวนาคนหนึ่งในอำเภอเชียงยืนให้สัมภาษณ์ว่า "ชาวนาจริงไม่ออกมาทำอย่างนั้นหรอก ชาวนาจริงวุ่นวายทำงานเกินไป"[222]
ชาวกรุงเทพมหานครจำนวนมากยินดีกับรัฐประหารหลังความขัดแย้งทางการเมืองนานเจ็ดเดือน กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันมองว่า ทหารเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ ผู้ชุมนุมนิยมกองทัพกล่าวว่า พวกตนยินดีกับรัฐประหารหากหมายถึงการขจัดอิทธิพลของทักษิณ ก่อนหน้ารัฐประหาร การนำเสนอข่าวท้องถิ่นจำนวนมากพรรณนาว่าทหารเป็นวีรบุรุษมาสู้กับนักการเมืองและตำรวจที่เป็นผู้ร้ายที่กินเงินใต้โต๊ะ รัฐประหารครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความแตกแยกของประเทศ[223]
มีการตั้งกลุ่มสนับสนุนรัฐประหารอย่าง "สนับสนุน คสช."ฯ หรือ "สนับสนุนกองทัพไทย" ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพ และอีกจำนวนหนึ่งปัดคำวิจารณ์ของต่างชาติ และว่า คนต่างชาติไม่เข้าใจวิกฤตการณ์ของไทย ไม่เข้าใจว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศไทยเลวร้ายเพียงใด[223]
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ประยุทธ์ควรเป็นนายกรัฐมนตรี ควรใช้อำนาจเด็ดขาด อย่าเป็นนักประชาธิปไตยเหมือนสุรยุทธ์ จุลานนท์ อย่าสนใจคำครหานินทาว่ามาจากรัฐประหาร หากทำดี แก้ปัญหาได้ ทำประเทศปรองดองได้ ทุกคนจะสรรเสริญ[224]
สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนไม่เคยสนับสนุนหรือส่งเสริมรัฐประหาร แต่ควรมองต่อไปว่าเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้า ดีกว่ามาคิดว่ารัฐประหารนี้ควรหรือไม่ "โจทย์ใหญ่วันนี้คือเราจะทำอย่างไรให้รัฐประหารซึ่งมีทั้งคนชอบและไม่ชอบจะไม่สูญเปล่า" และกล่าวว่า ไม่มีทางที่รัฐประหารจะอยู่ค้ำฟ้า อีกไม่นานก็จะกลับสู่วิถีประชาธิปไตย เขายังเชื่อว่า หากรัฐบาลยอมลาออกจากตำแหน่งจะไม่เกิดรัฐประหาร[225]
วันที่ 15 มิถุนายน สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจความสุขที่ประชาชนได้รับจาก คสช. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งถามความคิดเห็นของประชาชน 1,634 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 ถึง 14 มิถุนายน โดยอันดับแรก คือ การชุมนุมทางการเมืองยุติ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข[226]
สันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารการเงินธนาคาร เจ้าของนามปากกา ลม เปลี่ยนทิศ คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ว่ารัฐประหารของ คสช. ครั้งนี้ประสบความสำเร็จและ คสช. ได้รับความชื่นชมจากประชาชนและนักธุรกิจทุกภาคส่วนมากขึ้น ควรที่ผู้นำชาติตะวันตกจะมาศึกษา ประชาชนรู้สึกดีต่อผู้นำที่มาจากรัฐประหาร เพราะไม่อยู่ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงและเรียกสินบนจากเอกชน รัฐประหารครั้งนี้เป็นการเรียกศรัทธาและความสุขให้คนไทย เขาหวังให้ประยุทธ์ปฏิรูปประเทศไทยด้วยระบบคุณธรรมและยุติธรรม อย่าปล่อยทิ้งไว้เหมือนรัฐประหารครั้งก่อน[227]

คัดค้าน[แก้]

กลุ่มสื่อมวลชน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านการคุกคามสื่อ โดยเรียกร้องให้กองทัพบก ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก และยกเลิกประกาศ กอ.รส.ฉบับที่ 3, 7, 8 และ 9 ซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ในการแสดงออกของสื่อมวลชน[228]
ชาวไทยต่อต้านรัฐประหารอย่างจำกัด แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐประหาร[229]
นักวิชาการชาวไทยมีปฏิกิริยารุนแรงต่อรัฐประหาร โดยส่วนใหญ่แสดงความกังวลจริงจังต่อผลกระทบเชิงลบต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของไทย[215] กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เรียกตนว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยเน้นสิทธิของบุคคลในการคัดค้านรัฐบาลไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้ทหารปล่อยตัวผู้ถูกจับทันที ในแถลงการณ์ สปป. กล่าวว่า
"การปกครองที่ดีนั้นไม่ใช่การปกครองด้วยการใช้กำลังบังคับข่มเหงเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำให้ประชาชนยอมรับ ทำให้ประชาชนให้ความยินยอม เป็นผู้มีวาจาสัตย์ และเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนทุกฝ่าย หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นประชาชนเป็นศัตรูและมุ่งใช้กำลังข่มเหงเพียงอย่างเดียวเช่นนี้แล้ว ท่านก็จะต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างไม่รู้จบ และท่านก็จะปราบปรามประชาชนไปนับไม่ถ้วน จนกระทั่งท่านก็จะไม่เหลือประชาชนให้ปกครองอีกเลย"[230]
นอกจากนี้ สมาชิก สปป. ยังชุมนุมกันหน้าอาคารโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันเดียวกัน เพื่อแสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหาร[231]นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหารและเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก[232]
เวลา 14:45 น. เพชรรัตน์ วงศ์วิเศษ ชาวกรุงเทพมหานคร ได้บุกไปยังบริเวณทางเข้าหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ พร้อมแขวนป้าย "ช่วยด้วย ฉันถูกปล้น" ซึ่งสื่อให้เห็นว่าเพชรรัตน์ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้ และรู้สึกไม่พอใจที่ถูกทหารปล้นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งไม่พอใจที่คนไทยส่วนใหญ่เงียบเฉยกับสิ่งนี้ โดยสื่อต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ในเวลาไม่นาน เพชรรัตน์ก็เดินทางกลับ[233] และเวลา 16:55 น. มีกลุ่มประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเริ่มตั้งกลุ่มชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน[45]
เวลา 18:00 น. ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกมารวมตัวกัน ณ ประตูช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อต่อต้านการแทรกแทรงทางการเมืองของกองทัพ ตลอดจนการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม และรัฐประหาร[234] และเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากประตูช้างเผือกไปตามถนนมณีนพรัตน์ฝั่งคูเมืองเชียงใหม่ด้านนอก มุ่งไปทางแจ่งศรีภูมิทางทิศตะวันออกของคูเมืองเมื่อเวลา 19.00 น.[234]เวลา 19:47 น. กลุ่มประชาคมจุฬาลงกรณ์เพื่อประชาชน ออกแถลงการณ์คัดค้านการทำรัฐประหารของ คสช. โดยขอให้ คสช. ประกาศยุบตัวเอง และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการมาดำเนินการจัดการเลือกตั้งในทันที เพื่อเป็นการยืนยันว่า อำนาจทางอธิปไตยยังคงเป็นของประชาชน[235]

กลุ่มผู้ประท้วงที่ลานหน้าห้างเทอร์มินัล 21 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557
ในวันที่ 24 พฤษภาคม มีกลุ่มบุคคลจัดการประท้วงต่อต้านรัฐประหารหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์รัชโยธินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทหารพร้อมโล่ปราบจลาจลประจำอยู่[236] ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งตั้งใจเดินบวนมายังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแต่ถูกทหารสกัด[237] วันเดียวกัน คสช. เรียกนักวิชาการนิยมประชาธิปไตย แต่ผู้ถูกเรียกตัวกล่าวว่าจะไม่ยอมมอบตัวกับทหาร แม้ คสช. ขู่ว่าผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะได้รับโทษอาญา[238][239]ในจังหวัดขอนแก่น นักศึกษาจัดพิธีลาประชาธิปไตยหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่[240] ในจังหวัดมหาสารคาม นักศึกษาจัดประท้วงต่อต้านรัฐประหารกลางนคร แต่ทหารมายึดอุปกรณ์ประท้วง รวมทั้งป้ายผ้า[241]
วันที่ 25 พฤษภาคม มีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารชุมนุมหน้าร้านอาหารแมคโดนัลด์ที่แยกราชประสงค์ ใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่ทหารเข้ามายึดพื้นที่[242][243] ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งพยายามเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังแยกปทุมวัน แต่ทหารสกัดไว้[244]
นักวิชาการเรียกร้องให้สมาชิก คสช. แสดงทรัพย์สินต่อสาธารณะ ทว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กล่าวว่า ไม่มีกฎหมายกำหนดเช่นนั้น[245]
มีนักกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารจำนวนหนึ่งในจังหวัดเชียงรายถูกศาลทหารเชียงรายเรียกตัวและถูกกักขังโดยไม่มีข้อกล่าวหา[246]
วันที่ 1 มิถุนายน มีการนัดหมายชุมนุมต้านรัฐประหารโดยไม่แจ้งสถานที่ล่วงหน้า จึงมีการจัดเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ 38 กองร้อยประจำอยู่ตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร หรือตามสถานที่ที่เคยมีการชุมนุม แต่วันนี้ไม่มีรายงานนัดชุมนุมในพื้นที่ซึ่งมีทหารและตำรวจประจำอยู่ ที่ลานหน้าห้างเทอร์มินัล 21 มีผู้ชุมนุมหลายสิบคนชูสัญลักษณ์สามนิ้วแบบภาพยนตร์เรื่องเกมล่าชีวิต ต่อมา เจ้าหน้าที่พยายามเข้าจับกุมและปิดห้างเทอร์มินัล 21 มีรายงานผู้ถูกจับกุม 4 คน[247] สัญลักษณ์สามนิ้วเป็นตัวแทนของความเสมอภาค เสรีภาพและภราดรภาพ[248] กองทัพประกาศว่าจะจับทุกคนที่ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว[249]
วันที่ 7 มิถุนายน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า พรรคเพื่อไทยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม สมาชิกกลุ่มหนึ่งกล่าวอย่างเปิดเผยว่าจะต่อสู้กับคณะรัฐประหาร กลุ่มที่สองเลือกไม่ต่อต้านและพยายามลดบทบาท ส่วนกลุ่มที่สามตัดสินใจรอดูสถานการณ์ มีรายงานว่าจักรภพ เพ็ญแข อดีตแกนนำ นปก. กำลังใช้กลวิธีจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เพราะปฏิกิริยาต่อรัฐประหาร และผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจของสกุลชินวัตร[250]
วันที่ 10 มิถุนายน ฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คสช. ปลัดกระทรวง และเจ้ากรมพระธรรมนูญ รวม 28 คน ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและความผิดฐานกบฎ จากการประกาศใช้กฎอัยการศึกและยึดอำนาจการปกครองประเทศ[110]
ต่อมา แซนด์วิชกลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารใหม่ โดยมีการจัดกิจกรรมแจกแซนด์วิชให้แก่ผู้ที่ต้องการ และตะโกนว่า "แซนด์วิชเพื่อประชาธิปไตย!"[251] วันที่ 22 มิถุนายน นักศึกษาคนหนึ่งที่กำลังทานแซนด์วิช และอ่านหนังสือหนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ของจอร์จ ออร์เวลล์ อยู่หน้าสยามพารากอน และกลุ่มนักเคลื่อนไหว ศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ที่จะจัดกิจกรรมแซนด์วิชในที่เดียวกันถูกควบคุมตัวและถูกกักขังในภายหลัง[252]
วันที่ 24 มิถุนายน มีการเผยแพร่คลิปจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ก่อตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในเพจ "องค์กรเสรีไทย" นอกจากนี้ ยังมีคลิปแถลงการณ์ภาษาอังกฤษของจักรภพ เพ็ญแขในเพจเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยรายงานว่า จารุพงศ์ยื่นจดหมายลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม[253]

ต่างประเทศ[แก้]

กฎอัยการศึก[แก้]

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงว่ารับทราบการประกาศกฎอัยการศึกในไทยแล้ว พร้อมทั้งกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ยังมีความกังวลอย่างยิ่ง ต่อวิกฤตการเมืองไทยซึ่งถลำลึกยิ่งขึ้น และเรียกร้องทุกฝ่าย เคารพหลักการประชาธิปไตย รวมถึงเคารพเสรีภาพในการสื่อสาร สหรัฐอเมริกามีความเข้าใจว่า กองทัพบกประกาศว่าไม่ใช่รัฐประหาร และตั้งความหวังว่ากองทัพบกจะยึดมั่นว่าเป็นเรื่องชั่วคราว เพื่อป้องกันเหตุรุนแรง และไม่บ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกัน แก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจา เพื่อแสวงหนทางเดินหน้าต่อไป และตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นของการเลือกตั้ง ซึ่งจะชี้วัดความปรารถนาของประชาชนไทย[254]
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่น แสดงความวิตกกังวลอย่างมาก และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกับนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ที่แสดงความวิตกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทผลิตรถยนต์ ทั้งฮอนดา, โตโยตา และนิสสัน[255] สหภาพยุโรปเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อให้มีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อผลประโยชน์ของไทยเอง รวมทั้งขอให้กองทัพ เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อมวลชน[256]

รัฐประหาร[แก้]

จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน มี 19 ประเทศเตือนให้พลเมืองเลี่ยงการเดินทางเข้าประเทศไทยหากไม่จำเป็น และ 43 ประเทศเตือนให้พลเมืองระมัดระวังหากเดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดจนควรติดตามสถานการณ์และเลี่ยงสถานที่ชุมนุม[257]
องค์การเหนือรัฐ
  •  สหภาพยุโรป – โฆษกสหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ “เราเฝ้าติดตามการพัฒนาในประเทศไทยด้วยความวิตกอย่างยิ่ง กองทัพต้องยอมรับและเคารพอำนาจของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย...เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ และทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ”[258]
  •  สหประชาชาติ –
    • พัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงผ่านโฆษกแสดงความกังวลเกี่ยวกับรัฐประหารดังกล่าว โดยเรียกร้องให้ "กลับคืนสู่การปกครองตามรัฐธรรมนูญ โดยพลเรือน เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว" และความเคลื่อนไหวสู่ความร่วมมือระหว่างทุกฝ่าย[259]
    • เนวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประณามรัฐประหาร เธอกล่าวว่าสำนักงานของเธอเฝ้าติดตามสถานการณ์ในห้าเดือนที่ผ่านมา และเธอ "กังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการแทนที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดกฎอัยการศึก การระงับรัฐธรรมนูญและมาตรการฉุกเฉินซึ่งจำกัดความสำราญแห่งสิทธิมนุษยชนด้วยกำลัง" เธอยังกระตุ้นให้ฟื้นฟูหลักนิติธรรมในประเทศไทยโดยเร็ว[260]
ภาครัฐ
  •  ออสเตรเลีย – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จูลี บิชอป แสดงออกว่าเธอ "กังวลอย่างยิ่ง" ต่อรัฐประหาร และอธิบายสถานการณ์ว่า "ไม่แน่นอน" เธอยังกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียใช้ความระมัดระวังและให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของตนอย่างใกล้ชิด[261] ออสเตรเลียยังลดความสัมพันธ์กับไทย ห้ามผู้นำรัฐประหารเข้าประเทศ และเลื่อนกิจกรรมทางทหารกับกองทัพไทย[262]
  •  กัมพูชา – ข้าราชการกัมพูชาแสดงความกังวลว่าอาจเกิดความตึงเครียดขึ้นที่ชายแดนกัมพูชา–ไทย โฆษกคณะรัฐมนตรี ปาย สิฟาน (Phay Siphan) กล่าวว่า "เราปรารถนาเห็น[รัฐประหาร]นี้ไม่เป็นอันตรายต่อการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ และยังเคารพ[และคุ้มครอง]เจตจำนงและผลประโยชน์ของชาวไทย" และเสริมว่าไม่คาดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ชายแดนกัมพูชา–ไทย สิฟานยังกล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาจะเคารพผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศเสมอ[263]
  •  จีน – กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์สั้น ๆ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์และหวังให้ความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่ประเทศไทย[264]
  •  ฝรั่งเศส – ฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประณามรัฐประหารของไทย โดยสำนักเลขาธิการของออล็องด์ระบุว่า “ฝรั่งเศสเรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญกลับคืนมาเพื่อจัดการเลือกตั้ง และให้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วย”[265]
  •  เยอรมนี – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหาร เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งและฟื้นฟูการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว[266]
  •  ญี่ปุ่น – ฟุมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยเร็ว[267]
  •  มาเลเซีย – กระทรวงการต่างประเทศแนะนำให้พลเมืองมาเลเซียหลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทยในขณะนี้และเลื่อนการเยือนประเทศไทยที่ไม่จำเป็น ทั้งแนะนำให้พลเมืองมาเลเซียในประเทศไทยปฏิบัติตามการห้ามออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืนเพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลและเหตุผลด้านความมั่นคง[268] ขณะเดียวกัน อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ออกความเห็นว่า รัฐประหารในประเทศไทยจะไม่กระทบต่อประเทศมาเลเซียในด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ[269]
  • ธงชาติของรัสเซีย รัสเซีย – กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเรียกร้องให้หวนคืนสู่กระบวนการการเมืองและการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว [270]
  •  สิงคโปร์ – โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์แถลงด้วยความหวังว่าทุกฝ่ายจะอดกลั้นและร่วมมือกันเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นบวก ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อจะฉุดให้ไทยและชาติอาเซียนโดยรวมก้าวถอยหลัง และหวังว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว[271]
  •  สหราชอาณาจักร – รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ วิลเลียม เฮก ออกแถลงการณ์กระตุ้นให้ "ฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อบริการประชาชนและบรรลุพันธกรณีสิทธิมนุษยชน"[272]
  •  สหรัฐอเมริกา – กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า กำลังทบทวนความช่วยเหลือแบบกองทัพต่อกองทัพ และการเกี่ยวพันกับประเทศไทย โดยอาจจะรวมถึงการซ้อมรบร่วมที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกองทัพสหรัฐส่งนาวิกโยธินและทหารเรือเข้าร่วมประมาณ 700 นาย[273] สหรัฐอเมริการะงับเงินช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศไทยมูลค่า 3.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐจากเงินช่วยเหลือรวม 10.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ[274] และยกเลิกข้อผูกพันทางทหาร รวมทั้งการเยือนและการฝึกทหาร[275] นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางและชะลอการเยือนของข้าราชการที่ไม่จำเป็น[276]
ผมผิดหวังต่อการตัดสินใจของทหารไทยที่ล้มรัฐธรรมนูญและเข้าควบคุมการปกครองภายหลังความวุ่นวายทางการเมืองที่ยาวนาน มันไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมสำหรับรัฐประหารในครั้งนี้ ผมยังกังวลเกียวกับรายงานที่ว่า ผู้นำของพรรคการเมืองหลัก ๆ ของไทยได้ถูกกักตัว และขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพวกเขา และยังกังวลอีกในเรื่องที่ว่า ได้มีการระงับการแสดงออกของสื่อ ผมเรียกร้องขอให้มีการฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนและกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยในทันที ตลอดจนเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน อาทิ เสรีภาพของสื่อ เส้นทางข้างหน้าของประเทศไทยต้องมีการเลือกตั้ง ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชน
เราให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างเรากับชาวไทย การกระทำนี้จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐ-ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับทหารไทย เรากำลังทบทวนความช่วยเหลือและข้อตกลงทางการทหารที่สอดคล้องกับกฎหมายของสหรัฐ[273]
— จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกภาครัฐ
  • มีกลุ่มนักวิชาการไทยศึกษาจำนวน 26 คน จาก 7 ประเทศ ลงนามยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐประหารครั้งนี้ รวมถึงท้วงติงข้อความบางจุดในประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จากประโยคที่ว่า "ขอให้ประชาชนอยู่ภายใต้ความสงบเรียบร้อย และดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ" ว่าดูขัดแย้งกับความจริงว่าการดำรงชีวิตตามปกติภายใต้ประกาศนี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก "การประหาร" รัฐนั้นคือความรุนแรงอย่างชัดแจ้ง และกองทัพต้องคืนอำนาจทั้งหมดให้แก่ประชาชนโดยเร็ว[277]
  • องค์การนิรโทษกรรมสากลออกแถลงการณ์ว่า การจับกุมนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติเป็น "บรรทัดฐานอันตราย" และ "การรักษาความสงบเรียบร้อยไม่อาจเป็นข้ออ้างละเมิดสิทธิมนุษยชนได้" นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้ คสช. เปิดเผยที่อยู่ของผู้ที่ถูกจับกุมและกักขัง[278]
  • คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียประณาม คสช. ที่คุกคามนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังทันที และแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการเสื่อมถอยของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วในประเทศไทย[279]
  • ฮิวแมนไรท์วอทช์อธิบายการกระทำของ คสช. ว่าเป็นการใช้ "อำนาจกฎอัยการศึกโหด" และเรียกร้องให้เลิกใช้ทันที ผู้อำนวยการเอเชีย แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ระบุว่า "กองทัพไทยต้องรับรองว่ารัฐบาลควรกำหนดโดยบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่ลูกปืน"[280]
  • สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศพม่า แถลง แสดงความเป็นห่วงเสรีภาพสื่อไทยที่ถูกรัฐบาลทหารปิดกั้น นอกจากนี้ยังเรียกร้อง คสช. ให้ยกเลิกคำสั่งที่กระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน และปล่อยตัวผู้สื่อข่าวที่ถูกควบคุมตัว หากจริงใจต่อการปรองดองและปกป้องประชาธิปไตยจริง[281]
  • กลุ่มนักศึกษาชาวไทยและต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่น 20 คน ชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร โดยสวมหน้ากากบุคคลต่าง ๆ[282]
  • นักแสดง เกมล่าชีวิต แสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่ใช้สัญลักษณ์สามนิ้วของภาพยนตร์เป็นวิธีแสดงการคัดค้าน นาตาลี ดอร์เมอร์ (Natalie Dormer) อธิบายการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวว่า "เหลือเชื่อ" และว่า "สิ่งใดซึ่งกระตุ้นผู้คนในทางบวกที่จะต่อสู้กับการกดขี่ไม่อาจถูกวิจารณ์ได้ในทุกสภาพหรือรูปแบบ"[249]
  • โนม ชัมสกี กล่าวว่า เขารู้สึก "รบกวนจิตใจอย่างยิ่งเมื่อทราบเกี่ยวกับคำขู่ต่อศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์" และหวังว่าคำขู่เหล่านั้นจะถูกถอนไปโดยเ็รวและปวินสามารถ "ใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยปราศจากการบังคับของรัฐบาล"[283]

ผลกระทบ[แก้]

จุดผ่านแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านบางจุดยังคงปิดหลังรัฐประหาร[284][285]
วันที่ 27 พฤษภาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแถลงว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศลดลงร้อยละ 20[286] เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน สมาคมการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกเปิดเผยว่านับแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ยอดจองตั๋วเครื่องบินโดยสารมายังประเทศไทยตกลงไปเฉลี่ยวันละกว่า 5,000 ที่นั่ง โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่นิยมจองตั๋วล่วงหน้าระยะสั้น เช่น นักท่องเที่ยวชาวจีน ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาเดินทางมายังประเทศไทยว่าจะต่ำสุดในรอบ 5 ปี[287]
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และตลาดหลักทรัพย์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันที่หกติดต่อกัน สะท้อนว่าสาธารณะและนักลงทุนไทยรู้สึกกับท่าทีของกองทัพในเชิงบวก นอกจากนี้ เงินบาทยังแข็งค่าขึ้น 0.5% แต่บริษัทวาณิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ชี้ว่า ผลนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในระยะสั้น[288]
เอเชียเซนตินัล รายงานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนว่า กลุ่มสิทธิไทยปประเมินว่า ยังมีผู้ถูกคุมขังอยู่ราว 200 คนนับแต่เกิดรัฐประหาร[161]
บีบีซีรายงานเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนว่า ชาวกัมพูชากว่า 180,000 คน หนีออกนอกประเทศไทยหลัง คสช. ประกาศกวาดล้าง ซอ เคง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา กล่าวว่า ทางการไทยต้องรับผิดชอบ[289] หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า การออกไปของแรงงานเหล่านี้อาจเป็นก้าวที่ผิดพลาดของผู้นำทหารในความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฝ่ายแรงงานพม่าไม่ออกจากประเทศไทย เพราะตลาดแรงงานของพม่ามีทางเลือกน้อยกว่าตลาดแรงงานของกัมพูชา แรงงานบางส่วนเสนอว่า การเมืองอาจมีบทบาทและกล่าวหาพวกชาตินิยมและคู่แข่งของทักษิณว่าแพร่ข่าวลือ[290] วันที่ 19 มิถุนายน คสช. ออกคำสั่งที่ 70/2557 ย้ายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมจัดหางาน และเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว มาปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี[291]
สหภาพยุโรปจะชะลอการลงนามความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) และเรียกร้องให้กองทัพไทยฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง และยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังการเมืองและยุติการตรวจพิจารณา[292]วันที่ 20 มิถุนายน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาออกแถลงรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) ประจำปี 2557 ซึ่งประเทศไทยถูกปรับลดระดับลงไปอยู่ระดับ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ด้านวิชาวัฒน์ อิศรภักดี เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา กล่าวแสดงความผิดหวัง โดยระบุว่ารายงานดังกล่าวไม่น่าได้รับการยอมรับ และรัฐบาลไทยดำเนินการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว[293]